ประวัติความเป็นมา

ก่อนที่กองตำรวจสันติบาลจะได้กำเนิดขึ้นในกรมตำรวจนั้นได้มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประกาศเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พุทธศักราช 2473 ว่า “โดยมีพระราชประสงค์จะให้ราชการในกรมตำรวจภูธรดำเนินเจริญยิ่งขึ้น เป็นการสมควรที่จะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ซึ่งรอบรู้ในวิชาการบางอย่างเป็นพิเศษขึ้นไว้ เพื่อประโยชน์แก่การสืบสวนและปราบปรามผู้กระทำผิด” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมขึ้นกรมหนึ่งในกรมตำรวจภูธรชื่อ “กรมตำรวจภูบาล” มีเจ้ากรมเป็นหัวหน้ารับผิดชอบและให้กรมมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจภูธรด้วยในการปฏิบัติราชการให้เจ้าหน้าที่ในกรมนี้มีอำนาจตามกฎหมายเสมือนเสมอกัน และให้เจ้ากรมมีอำนาจออกหมายจับหมายค้นบ้านเรือน หมายเรียก พยานได้ตามกฎหมายทั้งในและนอกเขตกรุงเทพมหานคร

 

     ต่อมา วันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ได้มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า สมควรจัดวางโครงการกรมตำรวจขึ้นใหม่ เพื่อให้ได้ราชการยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศด้วยคำแนะนำยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีข้อความต่อไปนี้ข้อ

1. ให้เปลี่ยนชื่อกรมตำรวจภูธร เป็น “กรมตำรวจ” ให้เป็น กรมชั้นอธิบดี และมีรองอธิบดีเป็นผู้ช่วยข้อ

2. กรมตำรวจแบ่งกิจการออกเป็น 4 ส่วนคือ

  • ส่วนที่ 1 กองบังคับการ
  • ส่วนที่ 2 ตำรวจนครบาล
  • ส่วนที่ 3 ตำรวจภูธร
  • ส่วนที่ 4 ตำรวจสันติบาล มีหน้าที่เป็นกำลังช่วยเหลือ ตำรวจนครบาลและตำรวจภูธร

ข้อ 3. ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจัดแบ่งแผนกงานรายย่อยออกไปตามสมควรแก่รูปการ

เมื่อได้รับอนุมัติของคณะกรรมการราษฎรแล้วให้ถือว่าเป็นอันใช้ได้ ข้อความดังปรากฎแล้วข้างต้น จึงถือได้ว่า กองตำรวจสันติบาลได้เกิดมีขึ้น เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้ และในขณะเดียวกันได้พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ นายพันตำรวจ พระนรากรบริรักษ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลพายัพ มาเป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ในวันเดือนปีเดียวกันนี้เอง พระยาจ่าแสนบทดี เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็ได้จัดแบ่งแผนกงานในกรมตำรวจสำหรับกองตำรวจสันติบาลนั้นได้ประกาศไว้ดังนี้ “ให้รวบรวมกรมตำรวจภูบาล ตำรวจกองพิเศษ กับตำรวจภูธรกลางเป็นตำรวจสันติบาล มีหัวหน้าเป็นผู้บังคับการ 1 นาย แบ่งออกเป็น กองที่ 1 กองที่ 2 กองที่ 3 และกองตำรวจแผนกสรรพากร มีหัวหน้าเป็น

    ผู้กำกับการกอง ละ 1 นาย กองที่1-2 มีหน้าที่เป็นกำลังช่วยเหลือตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด ส่วนกองที่ 3 ให้แบ่งเป็น 4 แผนก” คือ

  1. แผนกทะเบียนพิมพ์ลายนิ้วมือ
  2. แผนกบันทึกแผนประทุษฐกรรม
  3. แผนกวิทยาการ
  4. แผนกบัญชีโจรผู้ร้าย ออกรูปพรรณผู้ร้าย หลบหนี และของหาย

     กองตำรวจสันติบาลสมัยแรกเริ่มตั้งขึ้นนี้แบ่งออกเป็น 4 กองกำกับการ อยู่ในความควบคุมของ พ.ต.อ.พระนรากรบริรักษ์ ผู้บังคับการ เปิดทำงานครั้งแรก โดยเช่าตึกของกรมหมื่นพิชัย มหินทรโรดม ที่ตำบลท่าเตียน เสียค่าเช่าเดือนละ 400 บาท ซึ่งเรียกติดปากคนในสมัยนั้นว่า “สันติบาลท่าเตียน” เสียค่าเช่าให้ ม.ล.เผ่าเพ็ญพัฒน์ ผู้รับมรดก ต่อมากรมตำรวจได้ จัดสร้าง ตึกกองตำรวจสันติบาลขึ้นใหม่ที่ อำเภอปทุมวัน ตรงข้ามวัดปทุมวนาราม(ตึกโรงเรียนสอบสวนกลางคืน)

หลังจานั้น ก็ได้ย้ายสถานที่จากตำบลท่าเตียนมาปฏิบัติงานที่ใหม่นี้ เมื่อ วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2479 ทำงานได้ประมาณ 4 ปีเศษ กรมตำรวจได้สร้างตึกขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่งรูปร่างและลักษณะเดียวกันทางด้านทิศตะวันออกของกรมตำรวจปุจจุบัน เสร็จแล้วได้สั่งให้กองตำรวจสันติบาลย้ายมาอบู่ที่ตึกใหม่นี้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2484 คือตึกที่กองตำรวจสันติบาล ตั้งอยู่ในขณะนี้

สรุป ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2475 รัฐบาลของคณะราษฎร์ได้ตั้ง กองตำรวจพิเศษขึ้น มีหน้าที่สืบสวน และหาข่าวสารทางการเมือง มีชื่อว่า “กองตำรวจสันติบาล” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “SPECIAL BRANCH” ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า เป็นตำรวจสาขาพิเศษต่างหากจากตำรวจทั่วไป รากฐานบรรพบุรุษของตำรวจสันติบาลก่อนหน้านี้ก็คือ “ตำรวจภูบาล” ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบงานภายในซึ่งปรกฎในราชกิจจานุเบกษาหลายครั้งหลายคราว กล่าวคือ พ.ศ.2475 สมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี พล.ต.ท.พระยานุเรศผดุงกิจ เป็นผู้รักษาการณ์ ในตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ได้แบ่งโครงสร้างของตำรวจสันติบาล ดังนี้

กอง 1 (สืบสวนปราบปราม) มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายได้ทั้งในและนอกพระนคร (ทั่วราชอาณาจักร) และทำหน้าที่ช่วยเหลือตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรเมื่อกำลังปราบปรามไม่พอ

กอง 2 (สืบราชการลับ) เป็นกองที่ดำเนินงานสืบสวนราชการลับ และสอดส่องดูความเคลื่อนไหวของนักการเมืองโดยทางลับและเปิดเผล เพื่อนสอดส่องสดับตรับฟังความเคลื่อนไหวของนักการเมือง ว่าดำเนินการไปในทางที่ผิดกฎหมายหรือไม่

กอง 3 กองนี้เป็นกองวิทยาการตำรวจ ซึ่งต้องใช้ผู้มีความรู้พิเศษ เช่น การตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหา หรือผู้สมัครเข้ารับราชการว่าเคยต้องโทษมาแล้วหรือไม่ บันทึกประวัติของผู้กระทำผิด การตรวจของกลางต่างๆ ออกรูปพรรณ ของหาย และออกประกาศจับผู้ร้ายซึ่งหลบหนีคดีอาญา

พ.ศ.2476 สมัย พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.พระยาอนุสสรธุระการ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ได้มีพระราชกฏษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมต่างๆในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2476 กำหนดงานของกรมตำรวจขึ้นใหม่ สำหรับกองตำรวจสันติบาลได้กำหนดไว้ดังนี้

กองกำกับการ 1(สืบสวนปราบปรามโจรผู้ร้าย)

กองกำกับการ 2 (สืบราชการพิเศษ)

กองกำกับการ 3(เทคนิคตำรวจ) แบ่งออกเป็น 5 แผนก คือ

  1. แผนกทะเบียนพิมพ์ลายนิ้วมือ
  2. แผนกบันทึกแผนประทุษกรรม
  3. แผนกพิสูจน์หลักฐาน
  4. แผนกบัญชีโจรผู้ร้าย ออกรูปพรรณผู้ร้าย หลบหนี และของหาย
  5. แผนกเนรเทศ

กองกำกับการ 4 (ทะเบียนตำรวจ) แบ่งออกเป็น 5 แผนก คือ

  1. แผนกทะเบียนปืน
  2. แผนกรถ
  3. แผนกสมาคม เอกสารหนังสือพิมพ์
  4. แผนกโรงหญิงนครโสเภณี โรงรับจำนำ ค้าของเก่า โรงแรม การพนันและเรี่ยไร
  5. แผนกพิจารณาภาพยนตร์

กองกำกับการ 5 (ตำรวจสรรพสามิต)

 

ใน พ.ศ.2476  นี้กองตำรวจสันติบาลได้เพิ่มงานด้านเนรเทศ และกองกำกับการ 4 (ทะเบียนตำรวจ) ขึ้นอีก 5 แผนก และกองกำกับการ 5 (สรรพสามิต) ขึ้นอีก 1 กองกำกับการดำเนินงานในเรื่องปราบปรามจับกุมยาเสพติดที่ผิดกฎหมายทุกประเภท ในปี พ.ศ.2476 นี้มีเหตุการณ์กบฏบวรเดช พอเสร็จการปราบปราม พล.ต.ต.พระพิจารณ์พลกิจ ได้มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสันติบาล

ต่อมา พ.ศ.2477ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองบัญชาการและกรมในกระทรวงมหาดไทย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2476(ฉบับที่2) ให้โอนแผนกรถ จากกองกำกับการตำรวจสันติบาลกองที่ 4 ไปขึ้นอยู่กับกองตำรวจเทศบาล จึงเป็นอันว่ากองกำกับการ 4 ตำรวจสันติบาลในสมัยนั้นจึงเหลือเพียง 4 แผนก คือ แผนกปืน แผนกสมาคมและเอกสารหนังสือพิมพ์ แผนกโรงหญิงนครโสเภณี และแผนกพิจารณาภาพยนตร์เท่านั้น

ปี พ.ศ.2478 ถึงปี พ.ศ.2479  มีการเปลื่ยนแปลงในหลักการสำคัญในเรื่องการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเลื่อนเป็นชั้นสัญญาบัตรทั่วราชอาณาจักรต้องแต่งตั้ง จากกองตำรวจสันติบาลตามกฎ ก.พ.

ปีพ.ศ.2480 สมัย พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส เป็นอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.พระรามอินทรา เป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ได้มีพระราชกฤษฎิกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่6) ให้เพิ่มแผนกทะเบียนคนต่างด้าวเป็นแผนกที่ 6 ในกองกำกับการ3 ที่ทำงานของแผนกนี้เดิมเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวสีเขียว ปลูกอยู่บริเวณที่ตั้งตัวตึกกรมตำรวจใหม่ แล้วได้ถูกรื้อเอาสถานที่สร้างเป็นกองรักษาการณ์และโรงเตรียมพร้อม ชั้นล่างเป็นโรงซ่อมและเก็บรถของกองตำรวจสันติบาล ต่อมาก็ได้ถูกสั่งให้รื้ออีกเพื่อสร้างเป็นตัวตึกของกรมตำรวจปัจจุบันนี้

พ.ศ.2480 สมัย พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส เป็นอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.พระรามอินทรา เป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ได้มีพระราชกฤษฎิกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่6) ให้เพิ่มแผนกทะเบียนคนต่างด้าวเป็นแผนกที่ 6 ในกองกำกับการ3 ที่ทำงานของแผนกนี้เดิมเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวสีเขียว ปลูกอยู่บริเวณที่ตั้งตัวตึกกรมตำรวจใหม่ แล้วได้ถูกรื้อเอาสถานที่สร้างเป็นกองรักษาการณ์และโรงเตรียมพร้อม ชั้นล่างเป็นโรงซ่อมและเก็บรถของกองตำรวจสันติบาล ต่อมาก็ได้ถูกสั่งให้รื้ออีกเพื่อสร้างเป็นตัวตึกของกรมตำรวจปัจจุบันนี้

 

พ.ศ.2481 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส เป็นอธิบดีกรมตำรวจและ พล.ต.ต.ขุนศรีนรากร เป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่8) เพิ่มแผนก 5 (ยานพาหนะ) ขึ้นในกองกำกับการ 4 ตำรวจสันติบาลอีก และได้กำหนดข้อบังคับไว้ว่าตราบใดที่มี่ตัวผู้บังคับการ อธิบดีกรมตำรวจ จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสันติบาลด้วย

 

พ.ศ.2483 พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจได้มีคำสั่งให้โอนงานแผนกต่างประเทศ กรมตำรวจมาขึ้นอยู่ใน กองกำกับการตำรวจสันติบาลกองที่2

 

ต่อมากรมตำรวจได้พิจารณาเห็นว่า กองกำกับการ1(สืบสวนปราบปรามโจรผู้ร้าย) ซึ่งอยู่กับกองตำรวจสันติบาลมีงานเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ สมควรที่จะแยกงานของกองกำกับการ 1 และกองกำกับการ 3 และกองกำกับการ 5 ไปขึ้นกับกองตำรวจสอบสวนกลางซึ่งตั้งขึ้นใหม่ มีผู้บังคับการเป็นหัวหน้าส่วนงานของกองตำรวจสันติบาล ให้เพิ่มผู้บังคับการอีกคนหนึ่งต่างหาก โดยแยกงานของกองกำกับการ 2 แผนก 1 (ต่างประเทศ) มาตั้งเป็นกองกำกับการ 1 (ต่างประเทศ) ดำเนินงาน ในกองกำกับการ 3 คงเอางานเกี่ยวกับ ทะเบียนคนต่างด้าว , เนรเทศ , เอกสารหนังสือพิมพ์และสมาคม ไว้ดำเนินการต่อไป และงานของกองกำกับการ 4 ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ให้หนักไปทางอารักขาบุคคลสำคัญ คณะรัฐมนตรี และฑูตต่างประเทศเท่านั้น ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการปราบปราม นอกจากนี้ได้เพิ่มแผนกพิพิธภัณฑ์ อบรมค้นคว้าความรู้ทางการเมือง เข้าไว้ในกองกำกับการ 4 อีกด้วย เป็นการตัดงานด้านการปราบปราม วิชาการตำรวจ และงานทะเบียนบางส่วนซึ่งไม่สำคัญออกเสีย

 

พ.ศ.2491 กองตำรวจสอบสวนกลางได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็นกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ขยายวงงานกว้างขวางออกไปอีก มีผู้บัญชาการเป็นผู้บังคับบัญชาการ กองตำรวจสันติบาลจึงได้เปลี่ยนแปลงมาขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมตำรวจ และได้เพิ่มงานแผนกล่ามภาษาต่างประเทศขึ้นอีก แผนก 1 เป็นที่ 4 ในกองกำกับการ 1 (ต่างประเทศ) และแยกงานเกี่ยวกับเอกสารหนังสือพิมพ์ไปขึ้นอยู่กับกองทะเบียน ส่วนที่เกี่ยวกับสมาคมคงอยู่กับสันติบาลต่อไป เพิ่มงานแปลงสัญชาติ แก้สัญชาติเข้าอยู่กองกำกับการ 3 กองตำรวจสันติบาล กับยุบแผนกต่างๆ ในกองกำกับการ 4 (รักษาความปลอดภัย) เหลือเป็นกองกำกับการ 4 เพื่อทำหน้าที่อารักขาบุคคลสำคัญเพียงด้านเดียว

 

พ.ศ.2494 ภัยคอมมิวนิสต์คุกคามเวียดนามหนักขึ้น คนญวนได้อพยพหลบภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยมาก กองตำรวจสันติบาลจึงได้ตั้งหน่วยควบคุมคนญวนอพยพ มีหน้าที่ควบคุมและดูแลความทุกข์สุขของชาวญวนซึ่งเข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารโนประเทศไทย อยู่ในความอำนวยการของ พ.ต.ต.หลวงโหมรอนราญ แยกเป็นหน่วยงานหนึ่งต่างหาก ขึ้นอยู่กับกองบังคับการตำรวจสันติบาลโดยตรง

 

พ.ศ.2495 กรมตำรวจได้พิจารณาเห็นว่า งานที่เกี่ยวกับด้านคนจีน ซึ่งอยู่ในแผนก 3 กองกำกับการ 1 (ต่างประเทศ) มีงานเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จึงได้แยกงานของแผนกของแผนกนี้ ตั้งเป็น กองกำกับการ 5 กองตำรวจสันติบาล มีหน้าที่ สืบ สวน ควบคุมและสอดส่องพฤติการณ์คนจีนโดยเฉพาะ และทำหน้าที่แปลเอกสารภาษาจีน ซึ่งสถานที่ราชการต่างๆ ส่งมาขอให้แปลกับได้รับโอนงานเอกสารหนังสือพิมพ์ ซึ่งสังกัดอยู่กับกองทะเบียน และได้โอนไปเมื่อ พ.ศ.2491 กลับมาอยู่กับ กองตำรวจสันติบาลเช่นเดิมอีกครั้งหนึ่ง

 

พ.ศ.2496 กรมตำรวจได้จัดตั้ง กองการต่างด้าวขึ้น กองตำรวจสันติบาลจึงได้โอนงานเกี่ยวกับทะเบียนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ซึ่งอยู่ในแผนก 1 กองกำกับการ 3 ไปอยู่กับกองการต่างด้าว ส่วนงานที่เกี่ยวกับการแปลงชาติ แก้สัญชาติ โอนสัญชาติ ไม่ได้โอนไปด้วย

 

พ.ศ.2498 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทยขึ้นอีก สำหรับตำรวจสันติบาล ได้แบ่งแยกงานในกองกำกับการ 4 ซึ่งทำหน้าที่อารักขา ออกเป็น 4 แผนก ดังนี้

 

 แผนก 1 (อารักขาภายใน) มีหน้าที่ถวายความอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี คณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาลฯ

 แผนก 2 (อารักขาชาวต่างประเทศ) มีหน้าที่อารักขาสถานฑูต กงสุล ที่ทำการองค์การสหประชาชาติ และชาวต่างประเทศผู้มีเกียรติบางคนที่จำเป็นต้องอารักขา

 แผนก 3 (ควบคุมอารักขาทั่วๆไป) มีหน้าที่อารักขารักษาการที่ประชุมต่างๆ เช่น การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวัฒนธรรมแห่งชาติ การประชุมคณะรัฐมนตรี การประชุมสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ การประชุมสภาเศรษฐกิจ การประชุมสภาป้องกันราช-อาณาจักร การประชุมสภากรรมการ รักษาการณ์กลาง ควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยผู้ต้องขังคดีการเมือง รักษาการณ์ บ้าน อ.ตร.และอารักขาอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่งานของแผนกใด้โดยเฉพาะ

 แผนก 4 (รักษาการณ์เรือนจำบางขวาง) แผนกนี้ได้รับโอนงานจากสถานีตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี ซึ่งทำหน้าที่รักษาการณ์เรือนจำนักโทษ นอกจากได้แบ่งยากงานในกองกำกับการ 4 ตำรวจสันติบาลขึ้นแล้ว ยังได้จัดตั้งโรงเรียนตำรวจสันติบาลขึ้นอีก เพื่อนำหน้าที่รับสมัครบุคคลซึ่งจะเข้ารับราชการเป็นตำรวจสันติบาล มีหน้าที่อบรมสั่งสอนวิชาการ กฎหมาย และระเบียบงานต่างๆ ของกรมตำรวจ ความรู้พิเศษอื่นๆ กับเทคนิคในการสืบสวนโดยทั่วๆไปด้วย

 

พ.ศ.2503 จัดตั้งกอง 6 เป็นหน่อยสืบสวนพิเศษเรื่องคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะ

 

พ.ศ.2515-2516 จัดตั้งกอง 7 ทำหน้าที่สืบสวนหาข่าวในภูมิภาค นอกจากนี้ยังจัดตั้งงานทะเบียนกลาง และสำนักควบคุมชนต่างชาติผู้อพยพ

ต่อมา ได้มีพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 21 พ.ศ.2535 ได้จัดตั้งให้ “สำนักงานตำรวจสันติบาล” เป็นส่วนราชการระดับกองบัญชาการ มีหน้าที่บริหารงานการข่าวกรอง เกี่ยวกับบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่มีพฤติการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่ที่เกี่ยวกับความมั่นคงต่อประเทศ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วย สัญชาติ การเนรเทศ การส่งผู้ร้ายข้ามแดน การพิมพ์ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงต่อประเทศ ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมชนต่างชาติ ผู้อพยพ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่กิจการ และผลงานของกรมตำรวจ (ในขณะนั้น) โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น 4 กองบังคับการ และ 1 กลุ่มงานดังนี้

  1. กองบังคับการอำนวยการ
  2. กองตำรวจสันติบาล1
  3. กองตำรวจสันติบาล2
  4. กองสารนิเทศ
  5. กลุ่มงานดำเนินกรรมวิธีข่าวกรอง

 

ด้วยภาระหน้าที่ที่สำคัญยิ่งของสำนักงานตำรวจสันติบาล การปฏิบัติงานที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหน่วยงานอื่นใด จากกรมตำรวจในอดีตมาสู่สำรักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน เบื้องหลังความสำเร็จการปฏิบัติราชการของ 4 กองบังคับการ กับอีก 1 หน่วยงาน ที่ขึ้นตรงกับผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่สืบสวนหาข่าวที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ วิเคราะห์สรุปประด็นข่าว งานถวายความปลอดภัย งานอารักขาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ งานผลิตสื่อและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นภารกิจที่เกื้อหนุนกันทำให้การปฏิบัติงานของตำรวจสันติบาลประสบความสำเร็จมาโดยตลอด

 

ปี พ.ศ.2552 ได้มีระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 โดยให้กองบัญชาตำรวจสันติบาล แบ่งส่วนราชการเป็น 5 กองบังคับการ และ 1 กลุ่มงาน ดังนี้

  1. กองบังคับการอำนวยการ
  2. กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1
  3. กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2
  4. กองบังคับการตำรวจสันติบาล 3
  5. กองบังคับการตำรวจสันติบาล 4
  6. ศูนย์พัฒนาด้านการข่าว